Vous êtes sur la page 1sur 15

!

ชีวิตไร้ความหมายในสังคมทุนนิยม?
ทบทวนมโนทัศน์ความแปลกแยกของมาร์กซ์1

ยุกติ มุกดาวิจิตร

แง่มุมที่สำคัญด้านหนึ่งที่สังคมทุนนิยมถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด คือการลดคุณค่ามนุษย์ให้กลาย
เป็นสินค้า แรงงานมนุษย์และผลผลิตของมนุษย์หมดคุณค่าเฉพาะในตัวเอง ถูกทำให้กลายเป็น
เพียงวัตถุเพื่อการแลกเปลี่ยน ในแนววิเคราะห์แบบมาร์กซิสม์ภาวะดังกล่าวเป็นภาวะที่เรียกว่า
ความแปลกแยก ในการอภิปรายเรื่องความแปลกแยกนี้ ประการแรก ผู้เขียนประสงค์ที่จะตรวจ
สอบความเข้าใจเรื่องความแปลกแยกหรือภาวะวิกฤตของมนุษย์ในสังคมทุนนิยมที่เสนอโดยมาร์กซ์
เอง ประการที่สอง ผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตต่อแนวคิดเรื่องความแปลกแยกของมาร์กซ์ ด้วยงาน
วิจัยข้ามสังคมวัฒนธรรมทางมานุษยวิทยา โดยหวังว่าการถกเถียงเรื่องความแปลกแยกจาก
ประสบการณ์ของสังคมวัฒนธรรมที่แตกต่างกันออกไป จะช่วยให้เข้าใจความซับซ้อนของสังคม
ทุนนิยม/โลกาภิวัตน์ ช่วยขยายประเด็นการวิจารณ์สังคมทุนนิยมจากเพียงการวิจารณ์ทาง
เศรษฐกิจและความสัมพันธ์ทางสังคม ไปสู่การวิจารณ์ในระดับปรัชญาสังคมวัฒนธรรม นำไปสู่
ปัญหาที่ว่า การใช้ชีวิตในสังคมทุนนิยม ไม่ว่าจะในด้านการผลิต การแจกจ่าย และการบริโภค
เป็นชีวิตที่มีคุณค่าหรือไม่ ผู้เขียนเสนอว่า ถึงที่สุดแล้วการประเมิณคุณค่าของการดำรงอยู่ในสังคม
ทุนนิยมเป็นเรื่องยากและละเอียดอ่อน เกินกว่าจะสรุปเพียงว่าสังคมทุนนิยมเป็นสังคมที่เต็มไปด้วย
ความแปลกแยก ที่สุดแล้วอาจกล่าวได้ว่า มิใช่ว่าความแปลกแยกจะครอบงำทุกมิติของชีวิตมนุษย์
และวัตถุ เช่นเดียวกับที่ไม่ใช่ว่าระบบทุนนิยมจะครอบงำทุกๆ มิติของชีวิตในสังคมปัจจุบัน

ในทางมานุษยวิทยาแล้ว เท่าที่ผู้เขียนสามารถจะตรวจสอบได้ในขณะนี้ (ปี 2542) ยังไม่พบ


นักมานุษยวิทยาท่านใดเลย (อย่างน้อยก็ในภาคภาษาอังกฤษ) ที่วิพากษ์วิจารณ์แนวคิดว่าด้วย
ความแปลกแยกของมาร์กซ์ไว้อย่างเป็นระบบหรือครบถ้วนในหลายๆด้านของข้อเสนอว่าด้วยความ
แปลกแยกของมาร์กซ์ ผู้เขียนพยายามที่จะรวบรวมข้อเสนอของนักมานุษยวิยาจำนวนหนึ่ง ที่
พาดพิงถึงประเด็นความแปลกแยกในสังคมสมัยใหม่โดยตรงหรือโดยอ้อม งานเหล่านั้นได้แก่ We
Have Eaten the Mines and the Mines Eat Us (พวกเราหากินกับเหมืองและเหมืองหากินกับพวก
เรา) โดย จูน แนช (June Nash 1993) Crafting Selves (หัตถกรรมตัวตน) โดย ดอรีน กอนโด
(Dorinne Kondo 1990) และ “Introduction: Commodities and the Politics of Value” (บทนำ:
สินค้าและการเมืองว่าด้วยมูลค่า) บทนำหนังสือ The Social Life of Things (ชีวิตทางสังคมของ
สิ่งของ) โดย อาร์จุน อพาดูไร (Arjun Appadurai 1986) ด้วยการวิจัยภาคสนามอย่างเข้มข้น และ
ความพยายามอย่างที่สุดที่จะทำความเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรมของนักมานุษยวิทยา

1 ดั ดแปลงจากรายงานส่งในวิชา "สัมมนามานุษยวิทยา: การศึกษาสังคมทุนนิยม" ณ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ปี 2542 ผู้


เขียนขอขอบคุณ ดอกเตอร์ แคทเธอรีน เอ. บาววี่ (Katherine A. Bowie) ที่เปิดวิชานี้ และทำให้ผู้เขียนมีความสนใจค้นคว้าเรื่อง
ความแปลกแยก
!2

เหล่านี้ งานเหล่านี้จะช่วยให้เราเข้าใจและวิพากษ์ความสลับซับซ้อนของความแปลกแยกในสังคม
ทุนนิยมได้ลุ่มลึก แหลมคมยิ่งขึ้น และมองปรากฏการณ์ความแปลกแยกโดยเปรียบเทียบข้าม
วัฒนธรรม ไม่เหมารวมเอาอย่างง่ายๆ ว่าวัฒนธรรมใดต่างก็เผชิญกับความแปลกแยกในสังคม
ทุนนิยม/โลกาภิวตน์อย่างรุนแรง เสมอเหมือน เป็นไปในทำนองเดียวกันหมด

นานาทัศนะของคาร์ล มาร์กซ์ว่าด้วยความแปลกแยก
มาร์กซ์มองความแปลกแยกในฐานะที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการแลกเปลี่ยนทางการเงิน ใน
ฐานะที่เงินเป็นสิ่งที่ใช้แทนมูลค่าของสินค้าและเป็นสื่อกลางของการแลกเปลี่ยน เงินตราจึงเป็น
เอกเทศจากตัวสินค้า

ในระดับพื้นฐานแล้ว สารัตถะของเงินไม่ได้อยู่ภายนอกตัวสินทรัพย์ หากแต่มันเป็น


กิจกรรมสื่อกลาง หรือกระบวนการสื่อกลาง อันเป็นการกระทำของมนุษย์และการกระทำ
ทางสังคม ที่แลกเปลี่ยนจุนเจือผลิตผลที่มนุษย์ผลิตขึ้นมา [เงิน]ได้กลายมาเป็นสิ่งที่แปลก
แยกและมีคุณลักษณะเป็นวัตถุธาตุที่จับต้องได้ คือเป็นเงิน ที่แยกเป็นเอกเทศออกมาจาก
มนุษย์ (Selected Writings, p. 41)

พ้นไปจากสื่อกลางอันนี้ สิ่งของได้สูญมูลค่าของมันไป [กลายเป็นว่า]วัตถุมีมูลค่าตราบเท่า


ที่มันแทนค่าตัวเงิน ทั้งที่ดั้งเดิมแล้วปรากฏว่า ตัวสื่อกลางต่างหากที่น่าจะมีมูลค่าก็ต่อเมื่อ
มันแทนค่าสิ่งของ . . . เพราะฉะนั้ น เจ้าตัวสื่อกลาง จึงเป็นสารัตถะของทรัพย์สินส่วน
ตัวซึ่งกลับสูญค่า แปลกแยก เป็นทรัพย์สินส่วนตัวที่ถูกกีดกันออกไป [เป็น]ทรัพย์สินส่วน
ตัวที่ถูกทำให้อยู่ข้างนอก (Selected Writings, p. 42)

ในแง่นี้ ความแปลกแยกในสังคมทุนนิยมจึงเกิดขึ้นเมื่อเงินถูกใช้เป็นสื่อกลางหลักของการ
แลกเปลี่ยน ในสถานการณ์นี้ มนุษย์แปลกแยกจากผลิตผลก็ด้วยเหตุที่เงินแยกตัวออกเป็นเอกเทศ
จากสินค้า เราจะเข้าใจทัศนะดังกล่าวชัดเจนยิ่งขึ้นจากที่มาร์กซ์อภิปรายอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
ว่า

เมื่อข้าพเจ้าส่งมอบทรัพย์สินส่วนตัวของข้าพเจ้าให้คนอีกผู้หนึ่ง สิ่งสิ่งนั้นได้สิ้นสุดการเป็น
ของของข้าพเจ้า มันกลายเป็นบางสิ่งที่เป็นเอกเทศจากข้าพเจ้า เป็นสิ่งภายนอกอาณา
บริเวณของข้าพเจ้า เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือตัวข้าพเจ้า ข้าพเจ้าทำให้ทรัพย์สินส่วนตัวของ
ตนเองกลายเป็นสิ่งภายนอกข้าพเจ้า เท่าที่ข้าพเจ้าจะเข้าใจได้นี้ สิ่งนั้นได้กลายเป็น
ทรัพย์สินส่วนตัวที่ถูกทำให้อยู่ภายนอก ข้าพเจ้ามองมันในฐานะที่เป็นสิ่งภายนอก
(Selected Writings, p. 46)

ในหนังสือ Capital I มาร์กซ์เปลี่ยนการใช้ คำในการอภิปรายเรื่องความแปลกแยก แทนที่


จะเป็นคำว่า “ของข้าพเจ้า” ”สิ่งภายนอกข้าพเจ้า” มาร์กซ์ใช้คำว่า “มูลค่าใช้สอย” (use-value)
!3

และ “มูลค่าแลกเปลี่ยน” (exchange-value) ภายใต้ระบบทุนนิยม เงื่อนไขของการแบ่งงานกันทำ


และแรงงานเสรีก่อให้เกิดการถ่ายโอนผลผลิตในรูปสินค้า (commodity) ในฐานะที่เป็นสินค้าในรูป
การณ์ขั้นสูงสุด ซึ่งแสดงออกในรูปเงินตรา ผลิตผลได้สูญเสียมูลค่าการใช้สอย ทั้งนี้เพราะมัน
จำเป็นต้องกลายเป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงไปเป็นสิ่งอื่นๆได้ ผ่านเงินตรา ดังที่มาร์กซ์กล่าวไว้
ว่า

สินค้ากลายมาเป็นเงินตราอย่างแท้จริง ด้วยความแปลกแยกโดยทั่วไปของบรรดาสินค้า
ด้วยการที่จริงๆแล้วมันเปลี่ยนที่ทางของรูปลักษณ์ตามธรรมชาติจากที่เคยเป็นสิ่งมีมูลค่า
จากการใช้สอย และจากนั้น ในความเป็นจริง มันกลายไปเป็นสิ่งที่มีค่าในตัวมันเอง เมื่อ
อยู่ในรูปเงินตราดังกล่าว สินค้าได้ปลดเปลื้องทุกๆร่องรอยแห่งมูลค่าใช้สอยตามธรรมชาติ
ของมัน[ทิ้งไป] (Capital I, p. 109)

อย่างไรก็ดี ควรกล่าวไว้ ณ ที่นี้ว่า สำหรับมาร์กซ์ สิ่งที่มีประโยชน์ใช้สอยไม่ได้จำกัดอยู่


เฉพาะสิ่งที่เป็นที่ต้องการทางกายภาพของมนุษย์เท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงความต้องการทางจิตใจ
ดังที่มาร์กซ์กล่าวไว้ว่า

ธรรมชาติของความต้องการดังกล่าว ไม่ว่ามันจะ ยกตัวอย่างเช่น ออกมาจากกระเพาะ


อาหาร หรือความเฟ้อฝัน ก็ไม่ได้ทำให้มันมีความแตกต่างกันแต่อย่างใด (Capital I, p.
35)

การทำให้กลายเป็นสิ่งที่อยู่ภายนอก หรือการกลายเป็นสิ่งที่แปลกแยกของผลิตผล ส่อนัย


ถึงความแปลกแยกในลักษณะต่างๆหลายประการ ประการแรก ภายใต้เงื่อนไขนี้ มนุษย์แปลก
แยกจากตัวตนของตนเอง ตามความเห็นของมาร์กซ์ ด้วยเหตุที่ในสังคมทุนนิยมการแบ่งงานกัน
ทำเป็นรูปแบบหลักของการผลิตทางเศรษฐกิจ แทนที่จะทำการผลิตเพื่อบริโภค มนุษย์ผลิตเพื่อ
ขาย หรือเพื่อแลกเปลี่ยน ด้วยเหตุนี้ ผลิตผลที่แต่ละคนผลิตจึงไม่ได้ตกเป็นสมบัติของผู้ผลิต
หากแต่กลายเป็นของผู้อื่น ภายใต้ภาวะเช่นนี้ มาร์กซ์อภิปรายว่า

อะไรคือสาเหตุที่ก่อให้แรงงานกลายเป็นสิ่งนอกตัวของผู้ใช้แรงงาน ?
ประการแรก ข้อเท็จจริงที่ว่าแรงงานเป็นสิ่งที่อยู่ภายนอกผู้ใช้แรงงาน กล่าวคือ มันไม่ได้
เป็นธรรมชาติส่วนหนึ่งของผู้ใช้แรงงาน และผู้ใช้แรงงานไม่สามารถยืนยันตัวตนในผลงาน
นั้นได้ หากแต่ต้องปฏิเสธตนเอง รู้สึกทุกข์เข็ญ เศร้าสร้อย พัฒนาไปสู่ความไม่เป็นอิสระ
ทางกายภาพและพลังงานทางจิตใจ มันบั่นทอนเนื้อหนังและทำลายจิตใจของผู้ใช้แรงงาน
ดังนั้น ผู้ใช้แรงงานจะรู้สึกสบายใจก็ต่อเมื่ออยู่นอกเงื่อนไขของการทำงาน และในขณะที่
พวกเขาทำงาน ผู้ใช้แรงงานจึงรู้สึกอยู่นอกตัวตนของตนเอง เขาจะรู้สึกสบายเหมือนอยู่ที่
บ้านเมื่อใดก็ตามที่เขาไม่ได้ทำงาน เมื่อใดที่เขาทำงาน เขาจะรู้สึกเหมือนอยู่นอกบ้าน
เพราะฉะนั้นงานจึงไม่ใช้สิ่งที่เขาทำโดยสมัครใจ ทว่าเป็นแรงงานที่ถูกขู่เข็ญ เป็นแรงงานที่
!4

ถูกบังคับ มันไม่ได้ เป็นแรงงานที่ทำเพื่อสนองความต้องการอย่างใดอย่างหนึ่งของตนเอง


หากแต่เป็นเพียงเครื่องมืออันหนึ่งที่ใช้สนองตอบต่อความต้องการของผู้อื่น . . . แรงงาน
ภายนอก หรือกล่าวอีกอย่างคือแรงงานที่มนุษย์ถูกผลักไสให้ไปอยู่ภายนอก เป็นแรงงาน
ของการเสียสละ เป็นการทรมานตนเอง ในที่สุดแล้ว ธรรมชาติภายนอกของผลงาน
สำหรับผู้ใช้แรงงานแล้ว มันปรากฏออกมาภายใต้ข้อเท็จจริง ที่ว่ามันไม่ได้เป็นผลงานของ
ผู้ใช้แรงงานเอง แต่เป็นผลงานของผู้อื่น ที่ว่าในการทำงาน ผู้ใช้แรงงานไม่ได้เป็นตัวตน
ของตนเอง แต่เป็นตัวตนของใครคนอื่น (Selected Writings, pp. 61-61)

ถึงจุดนี้ . . . เพียงเฉพาะภายใต้ศักยภาพทางการผลิตอันหนึ่ง ณ สภาพซึ่งเป็นของผู้ครอบ


ครองสินค้าต่างๆ เท่านั้น ที่มนุษย์สามารถแปรเปลี่ยนผลผลิตของแรงงานของผู้อื่น ด้วย
การแปลกแยกแรงงานของพวกเขาเอง (Capital I, p. 108-109)

ผลสืบเนื่องมาก็คือ ด้วยเหตุที่ส่วนหนึ่งของผลผลิตของเขา อันเป็นผลผลิตส่วนเกิน


(surplus value) ถูกทำให้แปลกแยกจากตัวเขาและถูกสะสมในรูปทุน (capital) มนุษย์จึงไม่เพียง
แปลกแยกจากทุน ในฐานะที่เดิมทีเดียวมันเป็นผลผลิตจากแรงงานของเขาเอง หากแต่ยังในฐานะ
ที่ทุนเป็นปัจจัยการผลิตที่ถูกผลิตขึ้นมาจากแรงงานของเขาเอง ในคำของมาร์กซ์เอง เขากล่าวว่า

วัตถุดิบและเครื่องมือเป็นสิ่งที่ถูกผลิตขึ้นมาจากมูลค่าส่วนเกิน . . . ในเงื่อนไขที่ว่า ผลรวม


ที่เฉพาะเจาะจงอันหนึ่งของแรงงานที่จำเป็น (จำเป็นในความหมายของความจำเป็นเพื่อการ
ดำรงชีพและการผลิตปัจจัยเพื่อการยังชีพ) สามารถที่จะถูกทำให้กลายเป็นวัตถุในรูป
ผลผลิตส่วนเกิน (The Grundrisse, p. 97)

สำหรับมาร์กซ์ การวิเคราะห์ความแปลกแยกในระดับนี้เป็นอีกขั้นหนึ่งของการวิเคราะห์
เรื่องสินค้าและมูลค่าแลกเปลี่ยน เป็นการมองว่าการแลกเปลี่ยนดำเนินไปเพื่อแลกเปลี่ยน หาใช่
เพื่อการบริโภคไม่

การแลกเปลี่ยนที่นำไปสู่การแลกเปลี่ยนไปเรื่อยๆนั้นถูกแยกออกมาจากการแลกเปลี่ยนเพื่อ
ให้ได้มาซึ่งสินค้า ชนชั้นผู้ค้าขายปรากฏขึ้นมาระหว่างผู้ผลิต เป็นชนชั้นของมนุษย์ผู้ซื้อ
เพียงเพื่อที่จะขาย และขายสินค้าเพียงในฐานะที่มันเป็นผลผลิต แต่ทว่าเขาจะต้องการแต่
เพียงผดุงมูลค่าแลกเปลี่ยนให้คงไว้ ซึ่งก็คือเงินตรา . . . เป้าหมายทันทีทันใดของการค้า
ไม่ใช่การบริโภค แต่เป็นการพอกพูนให้มากยิ่งๆขึ้นของเงินตรา ของมูลค่าแลกเปลี่ยน ผล
ที่สุดการที่มีการแลกเปลี่ยนสองลักษณะควบคู่กันอยู่ กล่าวคือ หนึ่งการแลกเปลี่ยนเพื่อ
การบริโภคและสองการแลกเปลี่ยนเพื่อการแลกเปลี่ยน ได้นำไปสู่ความไม่ลงรอยกันในรูป
แบบใหม่ (The Grundrisse, p. 63)
!5

ดังที่เขานำเสนอไว้ใน Capital I กระบวนการกลายเป็นทุนเริ่มขึ้นด้วยการแบ่งแยกกันของ


การแลกเปลี่ยนสินค้าเพื่อเงิน หรือการขาย และการแลกเปลี่ยนเงินเพื่อสินค้า หรือการซื้อ ใน
สังคมของนายทุน สินค้าไม่ได้ถูกแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้กลับมาซึ่งสินค้า ด้วยเหตุที่เงินเป็นสื่อกลาง
ที่สามารถเก็บสะสมไว้ได้ จึงเกิดการแลกเปลี่ยนอีกลักษณะหนึ่งขึ้นมา นั่นคือการนำเงินไปแลก
เปลี่ยนสินค้าเพียงเพื่อให้ได้เงินมา กระบวนการนี้คือกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่มาร์กซ์นำเสนอไว้
ด้วยตัวย่อง่ายๆว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงจาก C—M—C’ ไปเป็น M—C—M’ C หมายถึงสินค้า
ชนิดหนึ่ง และ C’ หมายถึงสินค้าอีกตัวหนึ่ง ส่วน M และ M’ คือความแตกต่างกันของจำนวนเงิน
กำไรที่ได้จากกระบวนการ M—C—M’ ถูกสะสมไว้ในรูปทุน (capital) และในที่สุด (เงิน)ทุนจึงถูก
นำไปใช้ลงทุนในฐานะที่มันแยกตนออกมาจากและควบคุมเหนือแรงงาน
ในอีกระดับหนึ่ง มนุษย์แปลกแยกออกจากมนุษย์ด้วยกันเอง ความแปลกแยกระดับนี้เกิด
ขึ้นในสังคมทุนนิยมในหลายๆลักษณะ ประการแรก ด้วยเหตุที่การแลกเปลี่ยนเงินตราเป็นรูปแบบ
หลักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในสังคมทุนนิยม ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ในสังคม
ทุนนิยมจึงถูกกำหนดโดยความสัมพันธ์ของการแลกเปลี่ยนทางการเงิน แทนที่จะเป็นความสัมพันธ์
ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง ดังที่มาร์กซ์กล่าวไว้ว่า

กระบวนการสื่อกลางของการแลกเปลี่ยนกันระหว่างมนุษย์ไม่ได้มีลักษณะทางสังคม ไม่ใช่
กระบวนการของมนุษย์ ปราศจากสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์ หากแต่ว่า มันเป็น
สัมพันธภาพนามธรรมของทรัพย์สินส่วนตัว และสัมพันธภาพนามธรรมดังกล่าวเป็นมูลค่า
ซึ่งมูลค่าอันแท้จริงของมันโดยพื้นฐานแล้วคือเงินตรา (Selected Writings, p. 42)

ในอีกระดับหนึ่ง มาร์กซ์ผลักแนวคิดความแปลกแยกไปถึงความแปลกของมนุษย์จากสิ่ง
แวดล้อมตามธรรมชาติ

ธรรมชาติเป็นเรือนร่างทางชีวภาพของมนุษย์ แม้ว่ามันจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะ
มนุษย์ มนุษย์มีชีวิตอยู่ได้ด้วยธรรมชาติ นั่นหมายความว่าธรรมชาติคือเรือนร่างที่มนุษย์
จะต้องคงไว้เพื่อที่ตนเองจะดำรงชีพอยู่ได้ ในการที่ ประการแรก ธรรมชาติแปลกแยกออก
จากมนุษย์ และประการที่สอง มนุษย์แปลกแยกออกจากตนเอง จากกิจกรรมอันเป็น
ประโยชน์ของตนเอง จากกิจกรรมแห่งการดำรงชีวิตของตนเอง แรงงานที่ถูกทำให้แปลก
แยกจึงทำให้มนุษย์แปลกแยกออกจากเผ่าพันธุ์แห่งความเป็นมนุษย์ มันเป็นการทำให้ชีวิต
ของทั้งเผ่าพันธุ์ (species-life) กลายมาเป็นเพียงชีวิตของปัจเจกชน

ในที่สุดแล้ว เห็นได้ว่าสำหรับมาร์กซ์ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติในรูป


ทรัพย์สินของชุมชน การเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต การผลิตเพื่อบริโภค และการผลิตเงื่อนไขที่
จำเป็นเพื่อการผลิต (ซึ่งเงื่อนไขนี้ถูกแปลงไปเป็น “ทุน” ในสังคมทุนนิยม) เหล่านี้เป็นเงื่อนไข
จำเป็นขั้นพื้นฐานของสังคมก่อนทุนนิยม กล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า ความไม่แปลกแตกต่าง หรือ
ความเป็นเอกภาพกันของมนุษย์กับธรรมชาติ มนุษย์กับมนุษย์ด้วยกันเอง มนุษย์กับกำลังแรงงาน
!6

ตนเอง มนุษย์กับผลผลิตตนเอง ล้วนเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นเบื้องต้นที่แบ่งแยกสังคมก่อนทุนนิยม


ออกจากสังคมทุนนิยม
จะเห็นว่าแนวคิดเรื่องความแปลกแยกของมาร์กซ์เป็นแนวคิดที่มีความซับซ้อน และ
ประกอบไปด้วยความหมายหลายระดับ อย่างไรก็ดี ในระดับพื้นฐานแล้ว มาร์กซ์เสนอแนวคิดเรื่อง
ความแปลกแยกเพื่อนำเสนอภาพเงื่อนไขการดำรงอยู่ในสังคมทุนนิยม ภายใต้เงื่อนไขที่มูลค่าแลก
เปลี่ยนในรูปของเงินตรา เป็นรูปการหลักของการแลกเปลี่ยน ภาวะนามธรรมของเงินตราก่อให้เกิด
ความแปลกแยกในหลายๆระดับ ความแปลกแยกดังกล่าวกินความตั้งแต่การที่มนุษย์แปลกแยก
จากผลผลิตผลของตนเอง แปลกแยกจากแรงงานของตนเอง แปลกแยกจากมนุษย์ด้วยกันเอง
และแปลกแยกจากเรือนร่างที่ไม่ใช่อวัยวะตนเองหรือธรรมชาติ
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงในสังคมต่างๆ ในปัจจุบันแล้ว มนุษย์เผชิญหน้า
กับภาวะวิกฤตของความแปลกแยกดังที่มาร์กซ์วิจารณ์ไว้อย่างไร การนำเอางานชาติพันธุ์นิพนธ์
(ethnography) ที่ศึกษาสังคมต่างๆ มาพิจารณาคงช่วยให้เข้าใจสภาวะแปลกแยกหรือไม่แปลกแยก
ได้อย่างแหลมคมขึ้น

คนงานแปลกแยกจากปัจจัยการผลิตและผลผลิต?
ใน We Have Eaten the Mines and the Mines Eat Us (พวกเราหากินกับเหมื องและ
เหมืองหากินกับพวกเรา) จูน แนช เสนอข้อถกเถียงเรื่องความแปลกแยกตามแนวทางที่มาร์กซ์
เสนอไว้อย่างน่าสนใจในหลายๆระดับด้วยกัน หากจะเชื่อมโยงแนชกับมาร์กซ์ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า
ความแปลกแยกระหว่างคนงานเหมืองกับผลผลิต ซึ่งในกรณีนี้คือแร่ดีบุก เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัด ดีบุก
ที่ถูกขุดขึ้นมาโดยคนงานเหมืองถูกกำหนดตั้งแต่ต้นให้เป็นสินค้าสำหรับแลกเปลี่ยน เป็นสิ่งที่ถูก
ทำให้แยกออกจากผู้ผลิต ด้วยการขุดดีบุกขึ้นมา กำลังแรงงานของคนงานเหมืองไม่ได้ถูกใช้ไปเพื่อ
การแปรเปลี่ยนธรรมชาติเพื่อการบริโภค แต่มันเป็นการใช้แรงงานเพื่อแลกเปลี่ยนกับเงินตรา หรือ
ในอีกนัยหนึ่งคือกำลังแรงงานของคนงานเหมืองถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบที่เป็นนามธรรมของ
มูลค่า
ในอีกระดับหนึ่ง คนงานเหมืองแปลกแยกจากมูลค่าส่วนเกิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผลผลิต
ของกำลังแรงงานชาวเหมืองเอง ในแง่นี้ส่วนเกินที่ถูกตัดแบ่งออกมาจากคนงานเหมืองถูกแปลงไป
เป็นทุนที่อยู่ในรูปเงินตรา ยิ่งกว่านั้น ในกรณีของคนงานเหมืองในโบลีเวีย ความแปลกแยกของ
ชาวเหมืองจากทุนอยู่ในสภาพที่เลวร้ายยิ่งกว่าการขูดรีดมูลค่าส่วนเกินของผู้ใช้แรงงานโดยทั่วๆ ไป
ทั้งนี้เพราะ ดังที่แนชกล่าวไว้ว่า “มูลค่าส่วนเกิน . . . ไม่ได้ถูกนำมาลงทุนซ้ำในวิสาหกิจใดๆใน
ประเทศ [โบลีเวียเอง] [ดังนั้นจึงไม่ได้ก่อให้เกิด]การจ้างงานเพิ่มขึ้น หรือการเติบโตขึ้นของ
ศักยภาพในการพัฒนาประเทศ ในทางตรงกันข้าม มูลค่าส่วนเกินกลับถูกแปลงไปเป็นการลงทุนที่
คุกคามต่อการดำรงอยู่ขั้นพื้นฐานของชาวเหมือง” (p. 210) นั่นคือไม่เพียงแต่ส่วนหนึ่งของแรงงาน
ของชาวเหมืองจะถูกตัดตอนออกไปเป็นมูลค่าส่วนเกิน หากแต่มันยังไม่หวนกลับไปในอุตสาหกรรม
เหมืองแร่ หรือประเทศที่เหมืองแร่ตั้งอยู่
นอกจากนั้นคนงานยังแปลกแยกจากปัจจัยการผลิต แน่นอนว่าคนงานเหมืองไม่ได้เป็น
เจ้าของปัจจัยการผลิต ยิ่งกว่านั้น แนชเสนอว่า ยิ่งอุตสหากรรมมีการแข่งขันกันมากเท่าไร ความ
!7

แปลกแยกในระดับนี้ของชาวเหมืองก็จะยิ่งมีมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะ ในอันที่จะแข่งขันและรักษาตัว


รอดอยู่ได้ในอุตสหากรรมเหมืองแร่ในระบบทุนนิยม เจ้าของเหมืองจำเป็นต้องบีบบังคับคนงาน
เหมืองอย่างหนักยิ่งๆขึ้น เมื่ออุตสาหกรรมเหมืองแร่ถูกแปรเป็นทุนนิยมมากยิ่งขึ้น (pp. 327-328)
อย่างไรก็ดี แม้ว่าหลายๆด้านของสภาพแวดล้อมของการทำงานในค่ายคนงานเหมืองจะ
แสดงให้เห็นถึงสภาพความแปลกแยกของคนงานเหมืองจากปัจจัยการผลิต (ตัวเหมือง) หากแต่ว่า
เมื่อมองจากมุมมองของคนงานเหมืองเอง จูน แนชเสนอว่า คนงานเหมืองไม่ได้มองว่าตนเองเป็น
ผู้ใช้แรงงานที่แปลกแยกโดยสิ้นเชิง ณ จุดนี้ ข้อเสนอว่าด้วย “ชุมชน” (community) ของแนชช่วย
เสริมแต่งให้การวิเคราะห์ความแปลกแยกของมาร์กซ์น่าสนใจยิ่งขึ้น ชุมชนตามความหมายของแนช
สามารถแบ่งออกได้เป็นสองระดับด้วยกัน กล่าวคือ ชุมชนในชีวิตประจำวันในที่พักและที่ทำงาน
ของคนงานเหมือง และชุมชนในชีวิตเชิงพิธีกรรม
จูน แนชพิจารณาชีวิตประจำวันในที่พักคนงานเหมืองในฐานะที่เป็นการเกิดขึ้นมาของสิ่งที่
แนชเรียกว่า “ความเชื่อมแน่นของชนชั้น” (class solidarity) สิ่งนี้เกิดขึ้นมาในที่ทำงานหรือใน
เหมืองเนื่องจาก

ในชุมชนคนงานเหมือง ความขัดแย้งระหว่างชีวิตที่บ้านกับชีวิตที่ที่ทำงานเป็นสิ่งที่เห็นได้
ยาก ที่พักอาศัยมักจะเป็นส่วนขยายของสิ่งก่อสร้างในเหมือง และเป็นการยากที่จะ
แยกแยะว่ า อาคารผู้ บ ริ ห ารสิ้ น สุ ด ที่ ต รงไหนและบ้ า นพั ก คนงานเริ่ ม ต้ น ที่ ต รงไหน
[สมาชิก]ครอบครัวของคนงานเหมืองก็แป่งปันเงื่อนไขจำเป็นพื้นฐานอันเดียวกันกับคนงาน
เหมือง . . . การไม่แบ่งเขาแบ่งเรา (communitas) (หรือการอยู่ร่วมกลุ่มสังคมเดียวกันและ
ร่วมชะตากรรมกันโดยเท่าเทียม) ก่อให้เกิดการประสานกันของชนชั้นในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน
(pp. 87-88)

ไม่เพียงแต่ความเป็นชุมชนจะเกิดขึ้นมาจากการแบ่งปันสถานที่อยู่ แต่มันยังเกิดขึ้นมาจาก
กิจกรรมทางสังคมภายในค่ายพักคนงานเหมือง ยกตัวอย่างเช่น การเล่นและกีฬาที่เล่นกันในค่าย
เหมือง การกู้เงินระหว่างครอบครัวชาวเหมือง สมาคมภริยาชาวเหมือง และกิจกรรมของโบสถ์ใน
ค่ายคนงานเหมือง (pp. 105-118) สิ่งเหล่านี้นำแนชไปสู่ข้อสรุปว่า

คนงานเหมืองแปลกแยกออกจากความสัมพันธ์ทางสังคม ที่นิยามให้ชาวเหมืองเป็นเบี้ย
ล่างในลำดับชั้นของการบริหารงานเหมืองแร่ หากแต่ว่าในทางวัฒนธรรมและความสัมพันธ์
ทางสังคมแล้ว คนงานเหล่านี้ไม่ได้ถูกทำให้แปลกแยกในชุมชนที่พวกเขาสร้างขึ้นมา สิ่งนี้
เป็นสิ่งสำคัญที่ชี้ให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของคนงานในอันที่จะต่อต้านการรวมเข้าเป็นส่วน
หนึ่งของโรงงานเหมืองแร่ และการทำให้ด้อยค่าความเป็นมนุษย์ลงของปัจเจกชน โดยผู้
ซึ่งขูดรีดแรงงานและพยายามที่จะบงการชีวิตของพวกเขา (p. 119)

ในระดับของชีวิตเชิงพิธีกรรม แนชนำเสนอพิธีกรรมและเทศกาลหลายๆอย่างที่ชาวเหมือง
ยึดถือปฏิบัติ (p. 121-169) จูน แนชเสนอว่า พิธีกรรมและเทศกาลเหล่านี้เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ก่อ
!8

ร่างสร้างความเชื่อมแน่นทางสังคม ในบรรดาพิธีกรรมและเทศกาลเหล่านี้ พิธีกรรมที่น่าสนใจที่


เกี่ยวข้องกับการถกเถียงเรื่องความแปลกแยกในที่นี้เห็นจะได้แก่ การบูชา เซอร์เป (Surpay) หรือ
เทียว (Tio) ผู้เป็นเจ้าแห่งเนินเขาที่เหมืองตั้งอยู่ เจ้าแห่งเนินเขานี้เป็นที่เคารพบูชาของคนงาน
เหมืองในฐานะปีศาจแห่งเหมือง นอกเหนือไปจากการที่พิธีกรรมนี้จะ “กระชับความสัมพันธ์ระหว่าง
กลุ่มผู้ใช้แรงงาน และสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยให้กับคนงานเหมือง ว่าจะปลอดจาก
อุบัติเหตุ และช่วยให้โอกาสในการพบแร่ของคนงานมีมากขึ้น” (p. 135) หากแต่พิธีกรรมนี้ยังแสดง
ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างคนงานเหมืองกับตัวเหมืองในรูปของการแลกเปลี่ยน

[เทพเจ้า]เซอร์เปเป็นอำนาจเพศชาย การเซ่นสรวงผีตนนี้เป็นการบนบานเพื่อให้ได้มาซึ่ง
เจตจำนงที่ดีงามของผีตนนี้ ไม่ใช่เพื่อธำรงไว้ซึ่งสถานภาพทางสังคม แต่เพื่อเข้าถึงความ
อุดมสมบูรณ์ของสมบัติที่ซ่อนอยู่ในเนินเขาแห่งนี้ มีการล้มตัวลามะสีขาวเพื่อบูชา ส่วน
หัวใจของลามะจะถูกนำเข้าไปในเหมือง เพื่อขอพรจากผีเป็นคำรบสอง ในทุกๆปี พิธีนี้
เป็นทั้งการเซ่นสรวงเพื่อสนองความหิวกระหายของผีเซอร์ปา และดังนั้นผีจะได้ไม่มากิน
คนงานที่ทำงานอยู่ในเหมือง กับทั้งเป็นการขอให้ผีช่วยเจือจานความรุ่มรวยของเหมือง ให้
กับคนงานเหมือง (p. 123)

ในแง่นี้ ความสัมพันธ์ระหว่างคนงานเหมืองกับเหมืองแร่ ในฐานะที่มันเป็นธรรมชาติและ


ปัจจัยการผลิต ถูกแสดงออกในรูปของความสัมพันธ์เชิงแลกเปลี่ยน การที่คนงานเหมืองถวายของ
แด่ผีแห่งเหมืองเพื่อแลกกับดอกผลของการทำเหมือง ก่อให้เกิดความเห็นพันธมิตรกันระหว่าง
มนุษย์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และดังนั้น ภายใต้ความสัมพันธ์ทางสัญลักษณ์ระหว่างคนงานเหมืองกับ
เหมือง คนงานเหมืองจึงรับรู้ถึงการมีอยู่ของเหมืองในฐานะที่เหมืองเป็นทั้งแหล่งทำมาหากินที่
ปลอดภัยและมั่งคั่ง แทนที่จะเป็นธรรมชาติที่แปลกแยกออกจากมนุษย์

ผู้ใช้แรงงานแปลกแยกจากตนเอง?
ประเด็นหลักใน Crafting Selves (หัตถกรรมตัวตน) ดอรีน กอนโดสนใจศึกษาวิธีที่คนงาน
ญี่ปุ่นกำหนดอัตลักษณ์ของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัตลักษณ์ที่ก่อร่างขึ้นมาจากการทำงานใน
โรงงาน กอนโดพบว่า อัตลักษณ์ดังกล่าวไม่ได้มีลักษณะเป็นเอกภาพ หรือตายตัว คนงาน
กำหนดอัตลักษณ์ตนเองแตกต่างกันไปตามบริบทของเวลาและสถานที่ กอนโดเรียกกระบวนการ
กำหนดอัตลักษณ์นี้ว่า การของการประดิษฐ์ประดอยตัวตน (crafting selves) กล่าวคือเป็นกระ
บวนการที่คนงานสร้างสรรตัวตนของตนเองภายใต้อัตลักษณ์ที่หลากหลาย ผลที่สุดแล้วทำให้เห็น
ว่า ทัศนคติของคนงานต่อการทำงานและโรงงานกลายเป็นสิ่งที่กำกวม
ประเด็นที่เชื่อมโยงความกำกวมของอัตลักษณ์คนงานกับข้อถกเถียงเรื่องภาวะแปลกแยก
ของคนงาน ได้แก่อุดมการณ์ ”บริษัทคือครอบครัว” และ “คนงานคือช่างฝีมือ”
ในทัศนะของกอนโด วาทกรรมว่าด้วยครอบครัวถูกใช้อย่างกว้างขวางในญี่ปุ่น เพื่อนิยาม
ความสัมพันธ์ทางการผลิตในบริษัทต่างๆ ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ในบริษัทซาโต
ที่ซึ่งกอนโดศึกษา
!9

ความพยายาม[ของบริษัท]ที่จะสอดใส่รสชาดความเป็นครอบครัวเข้าไปในบริษัท ผ่านการ
จัดการท่องเที่ยวในบริษัท การให้ผลประโยชน์พิเศษแก่คนงาน การให้ของกำนัลแก่คนงาน
และการคัดเลือกคนงาน แสดงออกในอรรถาธิบายซึ่งถูกกำหนดขึ้นมาโดย กฎหมาย การ
สร้างอัตลักษณ์แห่งชาติและการเติบโตของทุนนิยม” (p. 161-162)

ภายใต้บริบทดังกล่าว บริษัทซาโตพายายามที่จะสอดใส่รสชาดความเป็นครอบครัวเข้าไป
ในบริษัท ด้วยการจัดเตรียมบริการเพื่อความจงรักภักดี และให้เงินสนับสนุนการจัด
กิจกรรมพิเศษ ซึ่งบริษัทหวังว่า จะเป็นการเสริมสร้างความภักดีต่อบริษัท ศัพท์แสงเกี่ยว
กับครอบครัว และการทำให้บริษัทเป็นภาพสะท้อนของเครือค่ายแห่งครัวเรือน ก็มีส่วน
กำหนดความสัมพันธ์ของบริษัทเองกับบริษัทอื่นๆ รวมทั้งกับบริษัทป้อนวัตถุดิบ ภายใน
สมาคมพ่อค้า และในความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ระหว่างปัจเจกพ่อค้า (pp. 197-198)

อย่างไรก็ดี กอนโดพบว่า คนงานไม่ได้ยอมรับอุดมการณ์ครอบครัวอย่างศิโรราบ เป็นต้น


ว่า สำหรับโครงการเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวที่บริษัทส่งเสริม ปฏิกิริยาของคนงานต่อ
โครงการดังกล่าวเป็นไปอย่างกำกวม ในด้านหนึ่งคนงานวิจารณ์บริษัทอย่างต่อเนื่อง ว่าพวกเขาไม่
แน่ใจว่าเอาเข้าจริงแล้วบริษัทปฏิบัติต่อคนงานดุจคนในครอบครัวเดียวกันหรือไม่ กอนโดพบว่า “ไม่
เพียงแต่[คนงานในฐานะ]ผู้แสดงทางสังคมแต่ละคนจัดการกับแนวคิดเรื่องบริษัทคือครอบครัวอย่าง
แตกต่างกันไป พวกเขาแต่ละคนเองยังจัดการมันแตกต่างกันออกไปในแต่ละบริบท แต่ละจุดหมาย
ทางการเมืองเฉพาะกิจ” (p. 202) ตัวอย่างหนึ่งของท่าทีอันกำกวมต่อบริษัทดังกล่าวแสดงให้เห็น
โดยคนงานผู้หนึ่ง

คนงานคนหนึ่งหัวร่องอหายกับ[พฤติกรรมของ]เพื่อนร่วมงาน “คุณเห็นใช่ไหมว่าทุกคนบ่น
ด่ากับความถดถอยของจริยธรรมอย่างไร แต่เมื่อใดที่พวกเขากลับมาทำงาน พวกเขาก็มัก
จะพากันพูดกับพวกซุปเปอร์ไวเซอร์ว่า “ขอบคุณครับ ผมได้เรียนรู้มากมายจริงๆ” . . .
ทันใดนั้นเอง คนงานคนนี้ก็เปลี่ยนน้ำเสียง และกล่าวว่า “แต่ผมก็ดีใจนะที่ทำงานที่นี่ ผู้คน
พูดกันว่า ถ้าคุณได้ทำงานที่นี่ คุณก็จะสามารถทำที่ไหนก็ได้ทั้งนั้น” (p. 216)

ท่าทีที่เปลี่ยนไปมาระหว่างการกระแนะกระแหน ว่าส่อเสียดบริษัท กับความจงรักภักดีต่อ


บริษัทดังกล่าว เป็นสิ่งที่กอนโดพบเห็นเป็นปรกติชีวิตประจำวันในโรงงาน กล่าวได้ว่าสภาวะแปลก
แยกอันกำกวมของความสัมพันธ์ระหว่างคนงานกับตัวบริษัทซาโตในญี่ปุ่น มีลักษณะคล้ายกันกับ
คนงานเหมืองที่จูน แนชศึกษาในโบลีเวีย กล่าวคือ คนงานแสดงความรู้สึกแปลกแยกที่มีต่องาน
ของเขา ด้วยการวิจารณ์สภาพการทำงานในโรงงาน แต่ในขณะเดียวกันคนงานก็นิยามอัตลักษณ์
ตนเอง ว่าเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทในฐานะที่บริษัทเป็นครอบครัว ความสัมพันธ์ของคนงานกับ
บริษัทจึงเป็นไปได้ทั้งการยอมรับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท และการต่อต้านต่ออุดมการณ์หลัก
ของบริษัทที่ว่าบริษัทคือครอบครัว
!10

ประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งได้แก่วาทกรรมว่าด้วยช่างฝีมือ (pp. 229-257) ตามทัศนะ


ของกอนโด วาทกรรมว่าด้วยช่างฝีมือถูกใช้โดยคนงานกลุ่มหนึ่ง เพื่อการนิยามอัตลักษณ์ตนเอง
ด้วยวาทกรรมดังกล่าว คนงานกลุ่มหนึ่งจึงสามารถที่จะให้ความชอบธรรมกับลำดับชั้นของกลุ่มตน
ในฐานะแรงงานใช้ฝีมือในบริษัท นอกจากนั้นวาทกรรมดังกล่าวแสดงออกผ่านความสัมพันธ์
ระหว่างเพศ เนื่องจากกลุ่มคนงานที่ถูกเรียกว่า “ช่างฝีมือ” ส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ชาย อย่างไรก็ดี
ในมุมมองของมโนนัศน์สภาวะแปลกแยก ในฐานะคนงานช่างฝีมือ ไม่เพียงแต่คนงานจะนิยามอัต
ลักษณ์ตนเองว่าเป็นกำลังแรงงาน หากแต่พวกเขายังนิยามงานของตนว่าเป็นงานลักษณะพิเศษ ที่
ต้องการฝีมือขั้นสูงขึ้นกว่างานปรกติธรรมดา ด้วยวาทกรรมว่าด้วยช่างฝีมือทำให้คนงานมีความ
เข้าใจว่า ใครที่เป็นช่างก็จะมีความภาคภูมิใจในตนเอง ช่างฝีมือเรียนรู้งานช่างด้วยเรือนร่างตนเอง
และช่างฝีมือพึงพอใจในผลงานของตนเอง การประยุกต์วาทกรรมนี้กับสภาพการทำงานในโรงงาน
ซาโตนำกอนโดไปสู่ข้อค้นพบที่ตรงกันข้ามกับมาร์กซ์ ในประเด็นสภาวะแปลกแยกของผู้ใช้แรงงาน

มโนทัศน์ว่าด้วยช่างฝีมือแรงงานขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันระหว่างบุคคลกับโลก
ทางวัตถุ ช่างฝีมือดัดแปลงธรรมชาติด้วยความภาคภูมิใจ และมันยังสามารถที่จะมีความ
สัมพันธ์ที่อยู่บนความนับถือกัน ที่เป็นความร่วมมือกันระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง มนุษย์
กับวัตถุ และมนุษย์กับเครื่องมือ . . . เราสามารถมองเห็นความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่าง
มนุษย์และเครื่องจักร ได้แม้ในบริบทเล็กๆ ของ[การทำงานในระบบ]อุตสาหกรรม (pp.
244-245)

ผลที่สุด กอนโดสรุปไว้ในการถกเถียงเรื่องสภาวะแปลกแยกว่า

เมื่อเพ่งพินิจดูถึงแง่มุมที่มีความหมายอย่างยิ่งของงานในบริบทของช่างญี่ปุ่นแล้ว ชี้นำเรา
ไปสู่แนวทางต่างๆในการประมวลความคิดรวบยอด ว่าด้วยการก่อร่างสร้างตัวตนที่ถูก
ควบคุมในการทำงาน นอกจากนั้นมันยังท้าทายแนวทางการศึกษาก่อนหน้านี้ [ที่
เสนอ]ว่าการทำงานในสังคมอุตสาหกรรมมีลักษณะแยกส่วน แปลกแยก และหย่าห่างจาก
ธรรมชาติและโลกทางวัตถุ (p. 230)

ทั้งจากข้อเสนอของแนชและกอนโด จึงกล่าวได้ว่า เราไม่สามารถที่จะสรุปได้อย่างชัดเจน


ว่าสภาพการทำงานในสังคมทุนนิยมปัจจุบันมีลักษณะแปลกแยกดังที่มาร์กซ์เสนอ แม้ว่าผู้ใช้
แรงงาน ทั้งในทางทฤษฎีและด้วยความสำนึกของตนเอง จะมองเห็นเงื่อนไขการทำงานของตนเอง
ว่าอยู่ในสภาพที่แปลกแยก แต่เมื่อพิจารณาลงไปในระดับปฏิบัติการณ์และทัศนคติอย่างใกล้ชิด
จริงๆแล้ว แนชและกอนโดแสดงให้เราเห็นว่า ภายใต้ภาวะแปลกแยกนั้นเองที่ยังมีพื้นที่ว่างบาง
อย่าง ที่คนงานยังสามารถธำรงไว้ซึ่งโลกของการทำงานอย่างมีความหมาย
!11

สินค้าแปลกแยกจากมนุษย์และสังคม?
ตามทัศนะของมาร์กซ์ สินค้าเป็นอีกอาณาบริเวณหนึ่งที่เราจะพบสภาวะแห่งความแปลก
แยก มาร์กซ์แสดงทัศนะใน Capital I ว่ าสินค้ามีมูลค่าการใช้สอยและมูลค่ าแลกเปลี่ยน สินค้าจึง
ไม่ได้แปลกแยกอย่างสิ้นเชิงจากวัตถุประสงค์ดั้งเดิมของมันกล่าวคือเพื่อการใช้สอย แต่เพื่อที่จะถูก
นำไปแลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่นๆ มาร์กซ์กล่าวใน Capital I ว่า “ไม่มีสิ่งใดหลงเหลืออยู่นอกจากสิ่งที่
สินค้าทั้งมวลมีร่วมกัน สินค้าทั้งมวลถูกลดทอนลงเป็นหนึ่งและมีที่มาจากแรงงานชนิดเดียวกัน
เป็นแรงงานมนุษย์ที่เป็นนามธรรม” (p. 38) กล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า ตามทัศนะของมาร์กซ์ เพื่อ
ที่มันจะกลายเป็นสิ่งที่สามารถแลกเปลี่ยนได้ สินค้าจะต้องแปลกแยกออกจากเป้าประสงค์ดั้งเดิม
ของมัน พร้อมๆกับที่มันต้องแปลกแยกออกจากคุณลักษณะเฉพาะของแรงงาน ซึ่งจำเป็นสำหรับ
ผลิตสินค้าชนิดต่างๆอย่างเฉพาะเจาะจงไป จากทัศนะดังกล่าว แม้ว่าสินค้าจะไม่ได้ถูกนำเสนอใน
รูปของเงินตรา มันก็ได้สูญเสีย “ธรรมชาติ” ความเป็นมูลค่าใช้สอยไปแล้ว
อย่างไรก็ดี สำหรับอาร์จุน อพาดูไร ทัศนะต่อสินค้าดังกล่าวจำกัดความหมายของสินค้าอยู่
เพียงเฉพาะ “สินค้าจากโรงงาน (หรือบริการ) บางชนิด ที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับอาณาบริเวณที่
ทุนนิยมสอดแทรกเข้าไป . . . โดยทั่วไปแล้ว สินค้ามักจะถูกมองว่าเป็นภาพตัวแทนทางวัตถุทั่วๆ
ไปของรูปแบบการผลิตแบบทุนนิยม” (p. 7) แต่อพาดูไรเองเห็นต่างออกไปว่า

สินค้าคือสิ่งที่มีลักษณะเฉพาะที่มีศักยภาพทางสังคม สินค้าเป็นสิ่งที่แยกออกมาได้จาก
“ผลผลิต” (product) “สิ่งของ” (object) “ผลิตภัณฑ์” (good) “สิ่งประดิษฐ์” (artifact) และ
สิ่งอื่นๆ แต่ทั้งนี้เฉพาะเมื่อมันอยู่ในบางการให้คุณค่าและจากบางมุมมอง” (p. 6)

จากมุมมองนี้ สินค้าจึงเป็นลักษณะทางสังคมอย่างหนึ่งของวัตถุ และดำรงอยู่ท่ามกลาง


วัตถุอื่นๆ ในลักษณะทางสังคมแบบอื่นๆ ไม่ใช่ว่าวัตถุใดๆ ก็เป็นสินค้าไปหมด เพื่อที่จะทำความ
เข้าใจลักษณะทางสังคมของวัตถุ เราจึงควรนำวัตถุต่างๆ มาทำความเข้าใจให้ชัดเจนกันใหม่ การ
ที่จะนิยามสิ่งหนึ่งสิ่งใดว่าเป็นสินค้าหรือเป็นสิ่งอื่นใด จำเป็นต้องพิจารณาสิ่งเหล่านั้นจาก “ชีวิต” ใน
แต่ละเฉพาะเวลาและสถานที่ของมัน อพาดูไรจึงเสนอให้พิจารณา “ขั้นตอนของสินค้า” (commodity
phase) “เกณฑ์กำหนดสินค้า“ (commodity candidacy) และ “บริบทของสินค้า” (commodity
context) (pp. 13-16)
ขั้นตอนของสินค้า คือการที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งสามารถที่จะมีฐานะเป็นสิ่งของได้หลากหลาย
ลักษณะ ภายในหลายๆช่วงชีวิตของสินค้า ในแง่นี้ สิ่งต่างๆจึงอาจจะเข้ามาและออกจากการเป็น
สินค้า ในต่างช่วงชีวิตของมัน ดังนั้นเราจึงต้องดูถึงประวัติชีวิตของสิ่งของ ดูช่วงต่างๆที่สิ่งของถูก
ใช้ แม้ว่าในระยะหนึ่ง สิ่งใดสิ่งหนึ่งจะถูกนิยามว่าเป็นสินค้าเพื่อการแลกเปลี่ยนในตลาด ในอีก
ระยะหนึ่ง สิ่งเดียวกันนี้อาจเปลี่ยนไปเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับการบูชาโดยคนกลุ่มหนึ่ง
เกณฑ์กำหนดสินค้า คือ“มาตรฐานหรือเกณฑ์ในการนิยามการที่สินค้าสามารถแลกเปลี่ยน
กับสิ่งอื่นในบริบททางสังคมหรือประวัติศาสตร์เฉพาะบางอย่าง” (p. 14) ตามทัศนะดังกล่าว ใน
สังคมใดสังคมหนึ่ง สิ่งต่างๆสามารถแบ่งแยกออกได้ตามอาณาบริเวณของมัน ความสามารถแลก
!12

เปลี่ยนกับสิ่งอื่นๆได้ของสิ่งของถูกจัดโดยกฎเกณฑ์บางอย่างที่ว่า ไม่ใช่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะสามารถ
แลกกันได้หมด ในขณะที่สิ่งที่อยู่ในอาณาบริเวณเดียวกันสามารถจะแลกเปลี่ยนกันเองได้ สิ่งที่อยู่
ในอาณาบริเวณที่ต่างกันออกไปจะไม่ได้รับอนุญาตให้นำมาแลกเปลี่ยนกัน
บริบทของสินค้า คือสถานการณ์ที่สิ่งของจากต่างมาตรฐานทางวัฒนธรรมถูกนำมาแลก
เปลี่ยนกัน ของสิ่งหนึ่งอาจจะสามารถนำมาใช้แลกเปลี่ยนได้ในวัฒนธรรมเดียวกัน แต่ว่าในการ
แลกเปลี่ยนสิ่งของข้ามวัฒนธรรม ของสิ่งเดียวกันนี้อาจจะไม่ได้รับอนุญาตให้แลกเปลี่ยนกัน หรือ
ไม่สามารถแลกเปลี่ยนได้ในมาตรฐานทางวัฒนธรรมที่ต่างกันของสิ่งของ แต่ในบางโอกาสบางพื้นที่
“บริบททางสังคมอาจจะเป็นสิ่งที่นำผู้กระทำการทางสังคม ผู้มาจากหลากหลายระบบวัฒนธรรมและ
มีความเข้าใจร่วมกันเกียวกับสิ่งเดียวกัน . . . ในระดับที่น้อยมาก แต่มีความเห็นร่วมกันเฉพาะเรื่อง
อัตราแลกเปลี่ยน เข้ามาพบกัน” (p. 15)
ต่อประเด็นต่างๆ ดังกล่าว อพาดูไรยกตัวอย่างง่ายๆ ให้เห็นช่วงชีวิตต่างๆ ของสิ่งของจาก
การพิจารณา “วัตถุทางศิลปะของนักท่องเที่ยว” (tourist art) ในการซื้อขายผลงานที่ชนพื้นเมือง
ผลิตขึ้นมาให้แก่นักท่องเที่ยวจากต่างวัฒนธรรม สิ่งของเหล่านี้ดั้งเดิมแล้ว “ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อ
สุนทรียะ การเฉลิมฉลอง หรือเพื่อการใช้อย่างทิ้งขว้างในสังคมขนาดเล็ก สังคมของที่คนอยู่ใกล้
ชิดกัน [แต่ต่อมา]ถูกแปลงในทางวัฒนธรรม ในทางเศรษฐกิจ และในทางสังคม โดยรสนิยม
ตลาด และอุดมการณ์ ของสังคมเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่า” (p. 26) กล่าวคือให้มาเป็นสินค้าที่ขายนัก
ท่องเที่ยวได้
ผลที่สุดแล้ว ในการพิจารณาสินค้าในบริบทของสังคมทุนนิยม อพาดูไรกล่าวว่า

เพราะฉะนั้น กระบวนการทำให้เป็นสินค้าจึงวางอยู่บนการปะทะกันอย่างซับซ้อนของปัจจัย
ทางด้านช่วงเวลา วัฒนธรรม และสังคม ในระดับที่สิ่งของบางอย่างในสังคมหนึ่งมักจะถูก
พบว่าอยู่ในช่วงหนึ่งของระยะแห่งสินค้า (commodity phase) ต้องตรงกับเกณฑ์ที่จำเป็น
ต่างๆของสินค้า (commodity candidacy) และปรากฏในบริบทของสินค้าอย่างหนึ่ง
(commodity context) สินค้าเหล่านั้นจึงเป็นสินค้าที่จำเป็นของสังคมนั้น ในระดับที่หลาย
สิ่งหลายอย่างหรือส่วนใหญ่ของสิ่งของในสังคมหนึ่งต้องตรงตามเกณฑ์ดังกล่าว สังคมนั้นก็
อาจจะเรียกได้ว่าเป็นสังคมที่มีความเป็นสินค้าสูง ในสังคมทุนนิยมสมัยใหม่ เราสามารถ
กล่าวอย่างมั่นใจได้ว่า สิ่งของส่วนมากจะประสบกับการอยู่ในบริบทอันหนึ่งของสินค้า และ
เกณฑ์ของการเป็นสินค้า ในอันที่จะครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลกของสิ่งของ มากยิ่ง
กว่าในสังคมก่อนทุนนิยม แม้ว่ามาร์กซ์จะถูกต้อง ที่มองสังคมทุนนิยมอุตสาหกรรมสมัย
ใหม่ ว่า[มัน]ก่อให้เกิดสังคมที่[สิ่งของ]ถูกทำให้กลายเป็นสินค้าอย่างเข้มข้นมากที่สุด [หาก
แต่]การเปรียบเทียบสังคมต่างๆด้วยการพิจารณาถึงระดับของ “การกลายเป็นสินค้า” จะ
เป็นวิธีการที่ซับซ้อนอย่างที่สุดในการให้นิยามสินค้าตามกรอบการศึกษาสินค้าในที่นี้ ด้วย
นิยามนี้ [มโนทัศน์]“สินค้า”ถูกใช้ . . . เพื่อที่จะระบุถึง สิ่งของต่างๆที่ ณ ช่วงเวลาที่
เฉพาะช่วงหนึ่ง ในบทบาทหน้าที่เฉพาะของมัน และในบริบทเฉพาะอย่างหนึ่ง ได้
ประจวบกันกับสาระที่จำเป็นของเกณฑ์การเป็นสินค้า (pp. 15-16)
!13

ดังนั้น แม้ว่าในสังคมปัจจุบันในฐานะสังคมทุนนิยม สินค้าจะเป็นรูปแบบของสิ่งของที่


ครอบคลุมกว้างขวางที่สุด แต่ก็ยังคงมีรูปแบบอื่นๆของสิ่งของที่อยู่นอกเหนือสิ่งของที่เป็นสินค้า
ถ้าสินค้า ในฐานะที่เป็นช่วงเวลา กฎเกณฑ์ และบริบทของสิ่งของ กำลังแสดงบทบาทที่สำคัญ
ที่สุดในการนิยามสิ่งของในสังคมทุนนิยม สินค้าอาจจะไม่ได้แสดงบทบาทอย่างสำคัญที่สุดในรูป
แบบการบริโภค (mode of consumption) อย่างอื่น ตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงสถานะเชิงมูลค่า
ของสิ่งของที่น่าสนใจคือ ช่วงชีวิตของเงินตรา แม้ว่าในบางอาณาบริเวณของการแลกเปลี่ยน เงิน
ตราถูกยอมรับนับถือว่าเป็นสื่อกลางหลักของการแลกเปลี่ยน แต่ช่วงชีวิตต่างๆของตัว “เงินตรา”
เองก็แสดงให้เห็นอยู่เสมอๆ ว่าในบางครั้งเงินตราอาจจะกลายไปเป็นของสะสม หรือแม้แต่เป็นสิ่ง
ศักดิ์สิทธิ์ในบางสังคม
ในบริบทของสังคมโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน ความซับซ้อนของการแลกเปลี่ยนสิ่งของที่มาจาก
รูปแบบการบริโภคที่ต่างกัน อาจจะไม่สามารถเห็นได้ชัดเจนนัก ทั้งนี้เพราะ ในสังคมปัจจุบันซึ่ง
ทุกส่วนล้วนตกอยู่ในระบบโลก บริบทของการแลกเปลี่ยนไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ในโลกของสินค้า
หากแต่มันยังครอบคลุมการแลกเปลี่ยนสิ่งของจากสังคมต่างๆ ที่มีเกณฑ์กำหนดความเป็นสิ่งของ
แตกต่างกัน
หากจะกล่าวในแง่ของสภาวะแปลกแยก ในเมื่อในสังคมปัจจุบันยังมีรูปแบบอื่นของการ
บริโภคสิ่งของดำรงซ้อนทับอยู่พร้อมๆ กับรูปแบบการบริโภคสิ่งของแบบสินค้า มูลค่าใช้สอยของ
สิ่งของหรือผลผลิตก็จะยังคงมีอยู่ ไม่ใช่ว่าการบริโภคจะถูกครอบงำด้วยความแปลกแยกอันเกิดจาก
สภาวะที่ทุกสิ่งทุกอย่างถูกทำให้กลายเป็นสินค้าไปเสียทั้งหมด ในแง่นี้ ความซับซ้อนของช่วงชีวิต
ของสิ่งของ หรือความหลากหลายของการใช้หรือบริโภคสิ่งของ จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่มนุษย์จะ
หลุดรอดจากสภาวะแปลกแยกได้ในระดับหนึ่ง ความซับซ้อนดังกล่าวเปิดโอกาสให้กับมนุษย์ ใน
ฐานะผู้บริโภค เลือกที่จะยืนอยู่นอกสภาพการณ์ของความแปลกแยกภายใต้สังคมทุนนิยม

ความแปลกแยกอันกำกวม ทุนนิยมกำกวม กับชีวิต(ที่ยังมีความหมาย)ในสังคมทุนนิยม


มโนทัศน์ความแปลกแยกที่มาร์กซ์เสนอมีหลายระดับ ระดับแรก ข้อเสนอของมาร์กซ์
ครอบคลุมไม่เฉพาะด้านการผลิต หากแต่ยังรวมถึงกิจกรรมหลักทางเศรษฐกิจทุกๆ ด้าน กล่าวคือ
การผลิต การตลาด การบริโภค และการเงิน อีกระดับหนึ่งกล่าวได้ว่าความแปลกแยกเป็นตัวชี้วัด
ความเป็นทุนนิยมของสังคม สำหรับมาร์กซ์ สังคมทุนนิยมเป็นสังคมที่มีความแปลกแยกมากที่สุด
ในประวัติศาสตร์มนุษย์ ในระดับที่ยิ่งไปกว่านั้น ความแปลกแยกเป็นมโนทัศน์ที่มาร์กซ์เสนอเพื่อ
พิจารณาถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ในสังคมทุนนิยม กล่าวคือในสภาวะที่ต้องเผชิญกับความ
แปลกแยกด้านต่างๆ มนุษย์มีคุณค่าเฉพาะเมื่อตนเองถูกนำไปเปรียบเทียบกับสิ่งต่างๆ เพื่อการ
สะสมทุนหรือผลประโยชน์ของผู้อื่น ไม่ได้มีคุณค่าในตนเอง และท้ายที่สุด ในฐานะทฤษฎีที่
วิพากษ์สังคมเพื่อการเปลี่ยนแปลง(หากจะไม่ถึงกับต้องปฏิวัติ)สังคม ความแปลกแยกจึงเป็นมโน
ทัศน์ที่มาร์กซ์ใช้เป็นเครื่องมือในการวิพากษ์สังคมทุนนิยม เพื่อกระตุ้นให้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
สังคมไปสู่สังคมที่ส่งเสริมคุณค่าแก่มนุษย์
อย่างไรก็ดี จากตัวอย่างการศึกษาทางมานุษยวิทยาข้างต้น ความแปลกแยกอาจจะไม่ได้
ครอบงำมนุษย์ในสังคมทุนนิยมโดยสิ้นเชิง นักมานุษยวิทยาได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับความเข้าใจ
!14

เรื่องความแปลกแยกด้วยการให้ความสำคัญต่อความสลับซับซ้อนของความแปลกแยก แสดงให้
เห็นถึงการที่เราจะต้องระมัดระวัง ไม่ด่วนสรุปอย่างฟันธงลงไปว่า ในสังคมทุนนิยม/โลกาภิวัตน์
มนุษย์ตกอยู่ในสภาวะแปลกแยกอย่างสิ้นเชิง จากการศึกษาวัฒนธรรมเปรียบเทียบ จะเห็นว่า
ความแปลกแยกเป็นสภาวะที่ซับซ้อนและกำกวมกว่าที่มาร์กซ์เสนอไว้
สำหรับจูน แนช คนงานเหมื องตกอยู่ใต้ภาวะความแปลกแยกหลายๆ ด้านที่ไม่สามารถจะ
ปลีกตัวออกมาได้ง่ายๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนชยังมองว่าความแปลกแยกในระดับของ “ทุน” ที่ถูก
ถ่ายโอนจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆหรือประเทศอื่นๆ เป็นความแปลกแยก
ที่ร้ายแรงอย่างยิ่ง แต่ทว่า ประเด็นที่เธอไม่เห็นด้วยกับมาร์กซ์เป็นอย่างยิ่ง คือประเด็นว่าด้วย
ความเป็ น ชุ ม ชนในที่ พั ก คนงานเหมื อ งและความรู้ สึ ก ที่ ค นงานเหมื อ งมี ต่ อ เหมื อ งแร่ ใ นฐานะสิ่ ง
ศักดิ์สิทธิ์ สังคมที่พักคนงานและความศักดิ์สิทธิ์ของเหมืองแร่ ดูจะเป็น “ทางเลือก” ประการหนึ่งที่
จะทำให้คนงานสามารถปลีกตัวออกมาจากความแปลกแยก สำหรับดอรีน กอนโด วิธีที่เธอตั้ง
ประเด็นเกี่ยวกับความแปลกแยกก็ไม่ได้แปลว่าเธอไม่ยอมรับถึงการที่คนงานโรงงานยังเผชิญกับ
ภาวะแปลกแยก หากแต่เพราะเหตุที่คนงานยังคงมองตนเองในฐานะที่เป็นคนงานที่แปลกแยกจาก
แรงงานและผลผลิตของตนเอง การที่พวกเขา “ประดิษฐ์ตัวตน” ของตนเองทั้งที่เหมือนกับและต่าง
ไปจากอุดมการณ์ครอบครัวของบริษัทและอุดมการณ์ช่างฝีมือของคนงาน จึงเป็นการแกว่งไปมาระ
หว่างการเป็นคนงานที่แปลกแยกกับไม่แปลกแยก คนงานจึงไม่สามารถนิยามตนเองอย่างชัดเจน
ตายตัวได้ว่าตนเองเข้าใจภาวะความแปลกแยกของตนเองอย่างไร ส่วนอาร์จุน อพาดูไร แทนที่จะ
ยอมรับโดยสิ้นเชิงว่า มูลค่าแลกเปลี่ยนของสินค้าเป็นเพียงวิธีเดียวที่สังคมทุนนิยมให้คุณค่าต่อ
สิ่งของหรือผลผลิต อพาดูไรเสนอให้พิจารณาถึงรูปแบบอื่นๆของกรอบการให้คุณค่าแก่สิ่งของ
กรอบกำหนดคุ ณ ค่ า สิ่ ง ของที่ อ พาดู ไ รพบจากสั ง คมวั ฒ นธรรมต่ า งๆ ได้ แ ก่ บ ริ บ ททางสั ง คม
ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมที่มนุษย์ในวัฒนธรรมทางเศรษฐกิจแบบต่างๆ รวมทั้งมนุษย์ในสังคม
ทุนนิยมปัจจุบัน ใช้ในการจัดประเภทสินค้า ในขณะเดียวกัน ในแง่ของความแปลกแยก ข้อสรุป
ดังกล่าวเป็นการชี้แนะว่า ภาวะความแปลกแยกในแง่ของการบริโภคมูลค่าแลกเปลี่ยนมีอิทธิพล
ครอบงำสังคมปัจจุบันเพียงในระดับหนึ่ง ในช่วงชีวิตหนึ่งของสิ่งของหรือในบางกรณีของการแลก
เปลี่ยนเท่านั้นที่สิ่งของถูกทำให้กลายเป็นสินค้า
กระนั้นก็ตาม ผู้เขียนคิดว่า นักมานุษยวิทยาเหล่านี้ไม่ได้ปฏิเสธข้อเสนอเรื่องความแปลก
แยกของมาร์กซ์โดยสิ้นเชิง แม้ว่าจะมองความแปลกแยกอย่างซับซ้อน พวกเขาก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า
ไม่มีความแปลกแยกในสังคมทุนนิยม แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่การชี้ให้เห็นว่า ในความซับซ้อนและ
กำกวมของสภาวะแปลกแยกนั่นเอง ที่มนุษย์ในสังคมทุนนิยม/โลกาภิวัตน์จะมีที่ว่างสำหรับการ
ต่อสู้ ต่อต้าน ขัดขืนต่อการครอบงำของสภาวะแปลกแยก ในแง่นี้ หนทางที่จะพ้นไปจากความ
แปลกแยกของสังคมทุนนิยม/โลกาภิวัตน์จึงไม่จำเป็นที่จะต้องถูกจำกัดอยู่เฉพาะการรื้อฟื้น และส่ง
เสริมวัฒนธรรมชุมชน ชีวิตนอกวัฒนธรรมชุมชนในท้องถิ่นชนบทของผู้ใช้แรงงานและผู้บริโภค
อาจจะไม่ได้ไร้ค่า ไร้ความหมาย หรือเป็นภาวะวิกฤตที่มนุษย์ไม่สามารถดำรงอยู่อย่างมีคุณค่าได้
หากแต่มันยังมีช่องทางเล็กๆ ยังมีพื้นที่ “เล็กน้อย” ที่มีความหมาย ที่มนุษย์จะยังดำเนินชีวิตอย่าง
มีคุณค่าได้
!15

บนเวทีของ “การต่อสู้แบบจิ๊บจ๊อย” นี้ แทนที่จะเป็นการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงระบอบการ


ปกครอง ต่อสู้เพื่อปรับโครงสร้างการกระจายทรัพยากร พลิกผันความสัมพันธ์พึ่งพาและอำนาจ
ครอบงำในระบบโลก แก้ไขตัวบทกฎหมาย และเรื่องใหญ่ๆอื่นๆ มีตัวอย่างจากนักวิพากษ์สังคม
มากมาย ที่เสนอหนทางการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่าด้วยอำนาจของการต่อสู้ในเรื่องที่ดูเล็ก
น้อย แต่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่อย่างค่อยเป็นค่อยไป (Scott 1985) ดังนั้นแทนที่จะ
เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหันทันด่วน สังคมนิยมอาจได้มาด้วยการปฏิวัติอันยาวนาน
(Williams 1961) และมนุษย์ในฐานะ “คนเดินถนน” อาจดำรงอยู่ภายในสังคมทุนนิยม/โลกาภิวัตน์
โดยไม่จำต้องสยบยอมกับอำนาจครอบงำของแผนที่ (De Certeau 1988)

Marx, Karl. Capital: A critique of political economy vol I. New York: International Publishers,
1973.
Marx, Karl. Pre-capitalist economic formations. New York: International Publishers, 1989.
Marx. Karl. The Grundrisse.edited and translated by David McLellan. New York: Harper
&Row, 1971.
Marx. Karl. Selected Writings. edited by L. H. Simon. Indianapolis: Hackett Publishing
Company, 1994.
Nash, June. We Eat the Mines and the Mines Eat Us. New York: Columbia University
Press, 1993.
Kondo, Dorinne K. Crafting Selves. Chicago: University of Chicago Press, 1990.
Appadurai, Arjun. ‘Introduction: Commodities and the politics of value’ in The Social Life of
Things, A. Appadurai ed.

Vous aimerez peut-être aussi